แน่นอนว่าบรรดานักปั้นกางเกงยีนส์ตัวยง ย่อมตระหนักดีถึงความหมายของคำว่า Sanforized / Unsanforized ที่ระบุอยู่บนป้าย แต่คำเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่คนทั่วไปยังไม่เข้าใจ และมองข้ามความสำคัญของมันไป ทราบไหมว่า หากเลือกซื้อกางเกงยีนส์มาผิดประเภท โดยไม่ได้พิจารณาคำศัพท์คำนี้ให้ถี่ถ้วนเสียก่อน ก็อาจก่อให้เกิดความผิดพลาด ที่ทั้งน่าเสียใจและน่าเสียดายมากกว่าที่คิด
โดยทั่วไปแล้ว เมื่อจะเลือกซื้อยีนส์สักตัว สิ่งที่คำนึงถึงกันเป็นอันดับต้น ๆ ก็คงหนีไม่พ้นสี ทรง แบรนด์ และราคา จากนั้นจึงค่อยพิจารณาข้อมูลเชิงลึกอย่างเช่น วัสดุ ประเภทเนื้อผ้า น้ำหนักของผ้า และที่สำคัญเลยก็ต้องไม่ลืมดูด้วยว่า กางเกงตัวนั้นเป็นแบบ Sanforized หรือ Unsanforized ?

Cr: debenhams.com
1. รู้จักกับ “Sanforization”
อันดับแรก ก่อนที่จะอธิบายอะไรให้ละเอียดมากไปกว่านี้ได้ เราก็ต้องมารู้จักกับกระบวนการ Sanforization กันก่อน เนื่องจากว่ายีนส์ผ้าดิบ (Raw Jeans, Dry Jeans) หลังจากนำไปซักหรือแช่น้ำครั้งแรก กางเกงจะหดตัวลงพอสมควรเลยทีเดียว ก่อให้เกิดความยุ่งยากต่อการสวมใส่ จนเป็นปัญหาสำหรับหลาย ๆ คน
ในปี 1930 คุณ Sanford Lockwood Cluett จึงได้คิดค้นวิธีการทำให้ผ้าเดนิมหดตัวลงน้อยที่สุด โดยเนื้อผ้านั้นก็จะต้องผ่านการยืด-หด โดนทั้งความร้อนและความชื้นหลายขั้นตอน จนกลายมาเป็นผ้าที่ผ่านการ “Sanforized” มาแล้วอย่างเสร็จสรรพ สามารถนำไปใช้ตัดเป็นกางเกงต่อได้

Cr: madewell.com
2. Sanforized หรือ Unsanforized ดี?
เนื่องจากได้ผ่านกระบวนการที่ทำให้หดตัวน้อยลงมาแล้ว ทำให้เมื่อเรานำกางเกงยีนส์แบบ Sanforized ไปแช่ เนื้อผ้าจะหดลงเพียง 1-3% เท่านั้น ในขณะที่ถ้าเป็นแบบ Unsanforized เนื้อผ้าหลังแช่อาจหดลงได้ตั้งแต่ 10% ขึ้นไป และบางทีอาจมากถึง 15% เรียกว่าลดลงมาไซส์กว่า ๆ ได้เลยทีเดียว
นอกจากนี้ เนื้อผ้าของแบบ Sanforized แม้จะยังนับว่าเป็นผ้าดิบอยู่ แต่ก็จะให้สัมผัสที่รู้สึกเรียบลื่นกว่าแบบ Unsanforized เนื่องจากได้ผ่านกระบวนการแปรรูปหลายขั้นตอนมาแล้ว

Cr: cnbc.com
3. Sanforized เนื้อผ้าไม่หดตัว
กางเกงส่วนใหญ่ในท้องตลาด มักเป็นแบบ Sanforized ซึ่งก็ตัดปัญหาเรื่องการหดตัวหลังแช่น้ำออกไปได้เลย การจะแช่หรือไม่แช่ก่อนใส่แทบจะไม่สร้างความแตกต่างใด ๆ ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้สวมใส่ หากต้องการให้เกิดร่องรอยเฟดแบบคม ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องแช่ก็ได้ เพราะการแช่จะทำให้แป้งบนผ้าหลุดออก ส่งผลให้เนื้อผ้าอ่อนนุ่มและเข้าทรงมากขึ้น ฟีลที่ได้ตอนสวมใส่ก็จะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

Cr: nudiejeans.com
4. Unsansorized ให้แช่ก่อนใส่
ส่วนกางเกงยีนส์แบบ Unsanforized (มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Loomstate หรือ Shrink-to-fit Denim) เราขอบอกไว้เลยว่า เวลาซื้อมาใส่จำเป็นต้องเลือกไซส์ที่หลวมกว่าตัวสัก 1 ไซส์ และก่อนจะสวมใส่ครั้งแรก ก็ต้องจัดการนำไปแช่น้ำให้หดตัวเรียบร้อยเสียก่อน เพราะหากซื้อมาพอดีตัว
เมื่อซักหรือแช่น้ำแล้วกางเกงก็จะหดลงจนไม่สามารถใส่ได้ หรือต่อให้ซื้อมาแบบหลวมๆ แล้วไม่ได้แช่น้ำก่อน ใส่เฟดต่อเนื่องเลยเป็นเดือนเป็นปี พอถึงเวลานำมาซักก็จะเกิดอาการ “เฟดบิด” คือร่องรอยการเฟดที่เกิดขึ้นจะอยู่ไม่ตรงกับตำแหน่งข้อพับต่างๆ บนร่างกายเรานั่นเอง
แม้จะมีความยุ่งยากในการเลือกไซส์และต้องแช่ผ้าก่อนใส่ แต่เนื่องจากมีหลาย ๆ คนที่ยังหลงไหลแฟชั่นสไตล์ย้อนยุคและเสื้อผ้า Repro (เสื้อผ้าใหม่ที่ถอดแบบจากเครื่องแต่งกายโบราณ ใช้วัสดุและกรรมวิธีการผลิตตามรูปแบบดั้งเดิม)
ด้วยฟีลแบบดิบ ๆ และความ Original ขั้นสุดของมัน จึงทำให้กางเกงยีนส์ Unsanforized กลายมาเป็น Rare Item ระดับพรีเมี่ยมที่มีคนต้องการจับจองอยู่ไม่น้อย
#แฟชั่นใหม่ #การแต่งตัว #ความงาม #Sanforized VS. Unsanforized